ประเภทของบล็อกเชน

เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นส่วนสำคัญของคริปโตเคอเรนซี ซึ่งในเวลาต่อมา อุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงภาครัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งาน แต่บล็อกเชนก็ไม่ได้มีเพียงแค่ประเภทเดียว

แต่ก่อนที่เราจะอธิบายประเภทของบล็อกเชน เรามาทำความเข้าใจก่อนว่า “บล็อกเชน” คืออะไร

บล็อกเชนคืออะไร

บล็อกเชน (Blockchain) คือระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีการกระจายข้อมูลไปยังโหนด (คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์) ที่อยู่ภายในเครือข่าย ซึ่งทำให้ข้อมูลไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นอกจากนี้แล้ว บล็อกเชนยังทำให้ผู้คนสามารถทำธุรกรรมอย่างโปร่งใสและไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน

นอกเหนือจากคริปโตเคอเรนซีแล้ว บล็อกเชนยังใช้โดย

  • รัฐบาลเอสโตเนียจัดเก็บข้อมูลประชาชนแบบดิจิทัลบนบล็อกเชนเพื่อป้องกันการฉ้อโกงเอกลักษณ์บุคคล รวมถึงการลดความไม่มีประสิทธิภาพของการจัดการข้อมูลประชาชน
  • ธนาคารใช้บล็อกเชนเพื่อการเคลียริ่งและการชำระราคาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น, การโอนเงินข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว, ต้นทุนถูกลง และอื่น ๆ อีกมากมาย

คุณคงพอทราบว่าบล็อกเชนคืออะไร เรามาดูกันว่าบล็อกเชนแต่ละประเภทเป็นอย่างไร

Public Blockchain

Public Blockchain คือเครือข่ายแบบเปิดที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าร่วม, อ่าน, เขียนหรือมีส่วนร่วมบนบล็อกเชนโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร บล็อกเชนประเภทนี้เป็นแบบกระจายศูนย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของคนใดคนหนึ่ง ข้อมูลที่จัดเก็บบนบล็อกเชนนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้หลังจากได้รับการยืนยันบนบล็อกเชน

ตัวอย่างการใช้งาน Public Blockchain คือคริปโตเคอเรนซียอดนิยมอย่าง Bitcoin และ Ethereum ซึ่งทำให้ใคร ๆ สามารถดูข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นแล้วได้ทุกเวลา แต่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวได้ ยกเว้นเสียแต่จะมีใครสามารถควบคุมเครือข่ายมากกว่า 51% ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล

Private Blockchain

Private Blockchain คือเครือข่ายแบบปิดที่อยู่ภายใต้การจัดการของผู้ดูแลเครือข่ายและผู้ใช้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบเพื่อเข้าร่วมเครือข่าย ผู้ใช้แต่ละคนจะมีสิทธิ์เข้าร่วม, อ่าน, เขียนหรือมีส่วนร่วมบนบล็อกเชนที่แตกต่างกัน ข้อมูลที่จัดเก็บบล็อกเชนประเภทนี้มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถมีสิทธิดำเนินการ

ตัวอย่างการใช้งาน Private Blockchain คือ CBDC (สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง) ซึ่งถูกสร้างขึ้นบล็อกเชนแบบปิด รวมถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตัวอย่างเช่น IBM Food Trust ที่มอบประโยชน์แก่ผู้ผลิตและลูกค้าโดยการนำความโปร่งใสและการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาสู่การจัดการห่วงโซ่อุปทาน

Consortium Blockchain

Consortium Blockchain คือเครือข่ายลูกผสมที่รวมข้อดีของบล็อกเชนสองประเภทแรก โดยจะอนุญาตให้บุคคลหรือองค์กรในเครือข่ายเดียวกันสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ป้องกันการสูญหายหรือการรั่วไหลของข้อมูลกลายเป็นข้อมูลสาธารณะ และมีต้นทุนการลงทุนในระบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนระบบไม่สูงมากนัก แต่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากส่วนกลางก่อน

ตัวอย่างการใช้งาน Consortium Blockchain คือ Ripple ซึ่งมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงธนาคารจากทั่วโลกและผู้ให้บริการชำระเงินบนเครือข่ายของตน

ความแตกต่างของบล็อกเชนสามประเภท

คุณสมบัติ Public Blockchain Private Blockchain Consortium Blockchain
ลักษณะทั่วไป บุคคลทั่วไป จำกัดภายในองค์กร จำกัดภายในองค์กรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
การระบุผู้เข้าร่วม ไม่จำกัดผู้เข้าร่วม/ยืดหยุ่นสูง ระบุชื่อองค์กรหรือบุคคลที่อนุญาตให้เข้าร่วม ระบุชื่อองค์กรหรือบุคคลที่อนุญาตให้เข้าร่วม
สิทธิในการเข้าถึง การอ่าน/การเขียน ไม่ได้รับอนุญาต อนุญาต อนุญาต
การกำหนดกฎเกณฑ์ในการดำเนินงาน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่าง ๆ ได้ สามารถกำหนดเงื่อนไข/ข้อกำหนดตามความต้องการ เปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากส่วนกลางก่อน
ระยะเวลาในการยืนยันหรืออนุมัติการดำเนินธุรกรรม นาน 

(10 นาทีหรือมากกว่า)

สั้น

(1-2 วินาที)

สั้น
พลังงานที่ใช้ มาก น้อย น้อย
ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว น้อย มาก มาก
การเข้าถึงและประโยชน์ที่ได้รับ สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างโปร่งใสผ่านรายการบัญชีแบบกระจายศูนย์ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ปลอดภัย คุ้มค่า ลดความซํ้าซ้อนของข้อมูลและธุรกรรมมีจํานวนมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ปลอดภัย คุ้มค่า ลดความซํ้าซ้อนของข้อมูลและธุรกรรมมีจํานวนมากขึ้น
ตัวอย่างการใช้งาน Bitcoin, Ethereum IBM Food Trust Ripple

ข้อมูล: http://www.jap.tbs.tu.ac.th/files/Article/Jap56/Full/JAP56PanSiriArun.pdf

สรุป

บล็อกเชนคือระบบการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น ธุรกรรมคริปโต, ความเป็นเจ้าของ NFT ฯลฯ ที่มีการกระจายข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในเครือข่าย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

  1. Public Blockchain คือเครือข่ายแบบเปิดที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
  2. Private Blockchain คือเครือข่ายแบบปิดที่ผู้เข้าร่วมจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน
  3. Consortium Blockchain คือเครือข่ายที่รวมข้อดีระหว่างสองบล็อกเชนแรก

Reference