CBDC คืออะไร

CBDC คืออะไร

ธนาคารแห่งประเทศไทยให้คำจำกัดความว่า

“Central Bank Digital Currency คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ในกรณีของไทย ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล”

CBDC จะใกล้เคียงกับ Stablecoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่อ้างอิงมูลค่าเงินเฟียต (เงินที่ไม่มีสินทรัพย์รองรับ เช่น บาท, ยูโร, ดอลลาร์) และพยายามให้มีค่าเท่ากับสกุลเงินอ้างอิง ข้อแตกต่างระหว่างสกุลเงินดิจิทัลทั้งสองแบบคือธนาคารกลางจะเป็นผู้ออก CBDC ในขณะที่ภาคเอกชนและธนาคารสามารถออก Stablecoin

CBDC แบ่งออกเป็น

Wholesale Retail CBDC

Wholesale CBDC คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่ใช้โดยสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นสามารถใช้ CBDC เพื่อการโอนย้ายเงินทุนและชำระราคาที่เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว สกุลเงินดิจิทัลรูปแบบนี้สามารถช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนรวดเร็วและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ประเทศที่ให้ความสนใจ CฺBDC รูปแบบนี้คือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

Retail CBDC คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่ใช้โดยบุคคลทั่วไป คุณสามารถเป็นเจ้าของ สกุลเงินดิจิทัลรูปแบบนี้ผ่านกระเป๋าเงินหรือบัญชีที่กำหนดและสามารถใช้ชำระเงินแบบเดียวกับเหรียญหรือธนบัตรที่คุณคุ้นเคย

Retail CBDC มีประโยชน์สำหรับบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารแบบดั้งเดิม และไม่ต้องกลัวธนาคารล้ม เนื่องจากเงินดังกล่าวค้ำประกันโดยธนาคารกลาง

ประเทศที่ให้ความสนใจ CBDC รูปแบบนี้คือสหรัฐอเมริกา, บาฮามาส ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้ CBDC อย่างกว้างขวาง

CBDC กับคริปโตเคอเรนซี

ถึงแม้แนวคิดของ CBDC จะมาจากคริปโตเคอเรนซี แต่ทั้งสองต่างเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่แตกต่างกัน

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง CBDC กับคริปโตเคอเรนซีคือการมีตัวกลาง คริปโตเคอเรนซีคือสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครสามารถควบคุมหรือจัดการได้ ส่วนธุรกรรมจะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน (ระบบบันทึกข้อมูลแบบไม่มีตัวกลาง) ในขณะที่ CBDC ออกโดยธนาคารกลาง เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางจะสามารถจัดการและควบคุมสกุลเงินดิจิทัลแบบนี้ได้อย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้แล้ว คริปโตเคอเรนซียังมอบความเป็นส่วนตัวมากกว่า CBDC เนื่องจากคุณรับส่งธุรกรรมผ่านกระเป๋าเงิน ซึ่งคุณสามารถปกปิดตัวตนได้บางส่วน แถมคริปโตเคอเรนซีอย่าง Monero, Zcash ปกปิดตัวตนของผู้ใช้และธุรกรรมที่เกิดขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสามารถตรวจสอบชื่อผู้ใช้และธุรกรรมที่เกิดขึ้นบน CBDC ทั้งหมด

ข้อดีของ CBDC

  • การทำธุรกรรมที่รวดเร็ว ปลอดภัยและต้นทุนถูกกว่า
  • ในประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคาร การใช้ Retail CBDC จะช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงเงินที่ออกโดยธนาคารกลางโดยตรง
  • ผู้คนไม่ต้องเสี่ยงเก็บเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ที่มีโอกาสล้ม เงินของพวกเขาจะปลอดภัยตราบเท่าที่ธนาคารกลางมีความเสถียร
  • เจ้าพนักงานสามารถติดตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เนื่องจากธุรกรรมถูกบันทึกบนระบบบันทึกแบบดิจิทัล

ข้อเสียของ CBDC

  • ธนาคารกลางมีอำนาจควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
  • ธนาคารกลางจะมีข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดรวมถึงข้อมูลบางส่วนของผู้ใช้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
  • ในกรรณีของ Retail CBDC ธนาคารพาณิชย์อาจจะได้รับผลกระทบอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเนื่องจากหุ้นธนาคารมีมูลค่าตกลง

ตัวอย่างการทำ CBDC

สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของหลายประเทศอยู่ในขั้นตอนการวิจัยหรือการพัฒนา แต่มีบางประเทศที่มีการทดสอบหรือใช้ CBDC แล้ว ตัวอย่างเช่น

  • บาฮามาสเปิดตัว “Sand Dollar” ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของดอลลาร์บาฮามาส สกุลเงินดังกล่าวออกโดยธนาคารกลางบาฮามาสและกระจายผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต
  • ธนาคารกลางไนจีเรียเปิดตัว eNaira สกุลเงินดิจิทัลของไนรา ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Bitt ที่ตั้งอยู่ในแถบแคริบเบียน

ในกรณีของไทย ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้เริ่มต้นศึกษาและพัฒนา CBDC โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์” ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC ภาคธุรกิจ

สรุป

CBDC (Central Bank Digital Currency) คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและค้ำประกันโดยรัฐบาลแบบเดียวกับธนบัตรที่คุณใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

  • สกุลเงินดิจิทัลที่ใช้โดยสถาบันการเงิน
  • สกุลเงินดิจิทัลที่ใช้โดยบุคคลทั่วไป

CBDC แตกต่างจากคริปโตเคอเรนซีตรงที่มีธนาคารกลางควบคุมและจัดการ นอกจากนี้แล้ว ธนาคารกลางยังสามารถเข้าถึงรายชื่อผู้ใช้และข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นโดยใช้ CBDC

Reference