XRP คืออะไร ฉบับมือใหม่

หากคุณอยากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก บทความนี้มีคำตอบ

XRP คืออะไร

XRP คือคริปโตเคอเรนซีประจำของ XRP Ledger (XRPL) ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่เปิดกว้างกับทุกคนและไม่มีบุคคลใดสามารถควบคุมได้

คุณสามารถซื้อ XRP เพื่อการลงทุน, แลกเปลี่ยนกับคริปโตอื่น ๆ หรือใช้เป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนบล็อกเชน

บล็อกเชนของ XRP มีการดำเนินการที่แตกต่างจากบล็อกเชนอื่น โดยที่บล็อกเชนของคริปโตอย่าง Bitcoin, Ethereum, Litecoin จะเปิดบัญชีธุรกรรมและกระบวนการยืนยันแก่คนที่สามารถแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์เร็วที่สุด แต่การยืนยันดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ก่อนที่ธุรกรรมจะถูกเพิ่มลงในบล็อกเชน

กรณีของ XRP Ledger จะใช้สิ่งที่เรียกว่า Consensus Protocol (โปรโตคอลฉันทามติ) พูดง่าย ๆ ก็คือผู้ใช้สามารถเลือกรายชื่อโหนดพิเศษที่ผู้ใช้เชื่อว่าจะตุกติกน้อยที่สุดมายืนยันธุรกรรมของเขา

เมื่อมีธุรกรรมใหม่เข้ามา ผู้ตรวจสอบจะอัปเดตบัญชีของตนทุก 3 – 5 วินาทีและตรวจสอบว่าบัญชีของตนตรงกับของผู้ตรวจสอบอื่น ซึ่งทำให้เครือข่ายสามารถยืนยันธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

เรื่องราวความเป็นมา

ในปี 2554 สามผู้พัฒนานามว่า Jed Mccaleb, David Schwartz, Arthur Britto หลงใหลใน Bitcoin แต่มองเห็นปัญหาความสิ้นเปลืองด้านพลังงานจากการขุด ทำให้พวกเขามีเป้าหมายในการสร้างระบบการชำระเงินที่ยั่งยืนกว่า

XRP Ledger เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2555 หลังจากนั้นไม่นาน คุณ Chris Larsen ก็เข้าร่วมทีมและก่อตั้งบริษัท Newcoin ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Opencoin อย่างรวดเร็ว)

ผู้ก่อตั้ง XRPL ได้มอบ XRP จำนวน 80 พันล้านเหรียญให้แก่บริษัท ซึ่งทางบริษัทได้ล็อก XRP จำนวน 55 พันล้านเหรียญ (55% ของปริมาณทั้งหมด) ในเอสโครว์บน XRP Ledger

ในปีต่อมา Opencoin เปลี่ยนชื่อเป็น Ripple Labs, Inc และเปลี่ยนชื่อครั้งล่าสุดเป็น “Ripple” ในปี 2558 ทาง Ripple ได้รับใบอนุญาต BitLicense จากแผนกบริการทางการเงินของมลรัฐนิวยอร์กที่ทำให้สามารถขายและเก็บรักษา XRP สำหรับนักลงทุนสถาบันและสถาบันการเงินในนครนิวยอร์กในปี 2559

XRP กับ Bitcoin

อย่างที่เราทราบว่า ผู้สร้าง XRPL ต้องการสร้างระบบที่ยั่งยืนและเหนือกว่า Bitcoin เรามาดูกันว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

XRP Bitcoin
ความเร็วในการชำระราคา 3-5 วินาที 500 วินาที
ต้นทุนธุรกรรม $0.0002 $0.50
จำนวนธุรกรรมต่อวินาที 1,500 3
ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ ต่ำมาก 0.3% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งโลก

ข้อมูลจาก: https://xrpl.org/xrp-overview.html (29/6/2565)

XRP ทำงานอย่างไร

ระบบของ XRPL จะคล้ายคลึงกับระบบโพยก๊วนหรือก็คือ “การรับส่งเงินแบบไม่เป็นทางการผ่านตัวแทนหรือนายหน้าโดยไม่มีการเคลื่อนไหวของเงิน”

ตัวอย่างเช่น หากนาย A ต้องการโอนเงินไปให้นาย B ที่อยู่ต่างประเทศ แต่ไม่อยากเจออัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำและความล่าช้า 

  • นาย A ติดต่อตัวแทนพร้อมยื่นเงินที่ต้องการโอนให้กับตัวแทน 
  • ตัวแทนจะมอบรหัสลับให้กับนาย A 
  • ตัวแทนของนาย A จะติดต่อกับคู่สัญญาในประเทศของนาย B ว่าเขาได้รับเงินจากนาย A มาเท่าไหร่
  • ในเวลาเดียวกัน นาย A บอกรหัสลับที่ได้รับกับนาย B
  • นาย B ติดต่อตัวแทนที่เป็นคู่สัญญากับตัวแทนของนาย A และบอกรหัสลับ
  • เพียงเท่านี้ นาย B ก็ได้รับเงินจากนาย A

XRPL ใช้ผู้ตรวจสอบและตัวกลางอย่างเกตเวย์แทนที่ตัวแทน

ข้อดีของ XRP

การชำระราคารวดเร็ว: ยืนยันธุรกรรมรวดเร็วมาก โดยปรกติแล้วจะใช้เวลาเพียง 4-5 วินาที ซึ่งแตกต่างจากธนาคารที่ใช้เวลายืนยันธุรกรรมเป็นวันหรือหลักนาทีจนถึงหลักชั่วโมงของสกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก

ต้นทุนต่ำกว่า: ค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนเครือข่าย Ripple ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านธนาคารในปัจจุบันมาก

ใช้โดยองค์กรขนาดใหญ่: สถาบันการเงินชั้นนำของโลกอย่าง Bank of America จนถึงธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรีต่างใช้เครือข่ายของ Ripple

ข้อเสียของ XRP

ค่อนข้างรวมศูนย์: เนื่องจาก XRPL ใช้ผู้ตรวจสอบที่เชื่อถือได้ในการยืนยันธุรกรรมและคงความถูกต้องของบล็อกเชนอันแตกต่างจากบล็อกเชนอื่น อีกประการหนึ่งคือ XRP ไม่สามารถถูกขุดเพิ่มเติม ทำให้คนเพียงไม่กี่คนสามารถควบคุมธุรกรรมทั้งหมด

ความผันผวนสูง: เช่นเดียวกับคริปโตตัวอื่น ๆ เหรียญ XRP อาจมีราคาพุ่งสูงขึ้นหรือดิ่งลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า

ราคา XRP

ในตอนที่เขียนบทความ (29/6/2565) ราคา XRP จะอยู่ที่ 0.3313 ดอลลาร์สหรัฐ คุณสามารถดูราคาปัจจุบันทางเว็บไซต์ Coinmarketcap

สรุป

XRP คือคริปโตเคอเรนซีจากบริษัท Ripple ที่ทำให้คุณสามารถโอนเงินข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็วภายในหลักวินาที โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการโอนเงินผ่านธนาคารมาก

การทำงานของ Ripple จะคล้ายกับระบบโพยก๊วนแบบเดียวกันที่คนจีนใช้ส่งเงินกลับเมืองจีนในสมัยก่อน โดยผู้ตรวจสอบและเกตเวย์จะทำหน้าที่แทนตัวแทนหรือนายหน้ารับส่งเงิน

Reference