NFT คืออะไร
NFT คือโทเคนที่แสดงความเป็นเจ้าของของสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น ภาพวาด, ดนตรี, ไอเทมภายในเกม ซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้คริปโตเคอเรนซีและเงินเฟียต (บาท, ยูโร, เยน) และถูกสร้างขึ้นโดยใช้วิธีเดียวกับคริปโตอย่าง Bitcoin, Ethereum
NFT แตกต่างจากคริปโตเคอเรนซีอย่างไร
NFT ย่อมาจากคำว่า “Non Fungible Token” (โทเคนที่มีลักษณะเฉพาะตัว) ซึ่งก็คือ NFT แต่ละอันจะแตกต่างกัน ไม่สามารถแบ่งแยกหรือทำซ้ำได้ พูดง่าย ๆ คือเหมือนนาฬิกาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแทบทุกประการ แต่หากมีคนยืมนาฬิกาของคุณไปใส่ เขาก็ต้องคืนนาฬิกาอันเดียวกับที่ยืมมาจากคุณ
ในทางตรงกันข้าม คริปโตเคอเรนซีและเงินกระดาษสามารถแลกเปลี่ยนได้หรือก็คือสามารถทดแทนได้และมีมูลค่าไม่แตกต่างกัน เช่น แบงก์ 20 บาทจะมีค่า 20 บาททุกใบ ทำให้เวลาเพื่อนของคุณขอยืมแบงก์ 20 เก่า ๆ เขาสามารถจ่ายคืนด้วยแบงก์ใหม่โดยไม่มีปัญหาอะไร
NFT ทำงานอย่างไร
NFT สามารถมอบและแสดงความเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากตั้งอยู่ในบล็อกเชนที่เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าดูข้อมูลอย่างง่ายดาย
NFT ถูกสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของสินทรัพย์ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้อย่าง
- ภาพวาด
- ของสะสม
- วิดีโอ
- ดนตรี
- ของภายในเกม
- เอกสารทางกฎหมาย
- ลายเซ็น
ขั้นตอนการสร้าง NFT จะประกอบด้วย
- สร้างบล็อกใหม่
- ยืนยันข้อมูล
- บันทึกข้อมูลลงในบล็อกเชน
NFT ทำอะไรได้บ้าง
เทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT ทำให้ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานมีช่องทางสร้างรายได้จากผลงานแทนที่จะต้องผ่านหอศิลป์ ห้องแสดงงานศิลปะหรือสถานที่ประมูล พวกเขาสามารถขายผลงานโดยตรงกับลูกค้าในรูปของ NFT
นอกจากนี้แล้ว พวกเขายังสามารถตั้งให้มีการจ่ายค่าสิทธิทุกครั้งที่ผลงานของเขามีการเปลี่ยนมือ ซึ่งถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เนื่องจากพวกเขามักจะไม่ได้รับเงินเพิ่มเติมหลังจากการขายครั้งแรก
นอกจากจะเปิดโอกาสให้กับศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว บรรดาเกมเมอร์ต่างก็ได้รับประโยชน์จาก NFT ที่ยืนยันความเป็นเจ้าของสิ่งของภายในเกมและสามารถนำสิ่งของดังกล่าวออกจากเกมเพื่อขายต่อในตลาดหรือขายสกุลเงินภายในเกมบนตลาดซื้อขายคริปโตชั้นนำอย่าง Binance, Coinbase, Bitkub เป็นต้น
ส่วนผู้พัฒนาเกมอาจได้รับค่าสิทธิทุกครั้งที่มีการซื้อขายสิ่งของในเกมบนตลาดรอง นั่นทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
ข้อควรทราบของ NFT
ความผันผวนสูงและสภาพคล่องต่ำ
เนื่องจาก NFT ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ ประกอบกับ NFT ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คน ทำให้มีผู้สนใจซื้อและผู้สนใจขายจำนวนไม่มาก ทำให้ราคา NFT มีความผันผวนสูงมาก
การขโมยผลงานมาขายต่อ
ศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานจำนวนมากต่างพบว่าผลงานของพวกเขาถูกทำเป็น NFT และขายบนตลาดโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของ NFT ที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการซื้อขายผลงาน แต่เนื่องจากมีผู้นำผลงานต้นฉบับของพวกเขามาทำเป็นภาพดิจิทัลและสร้างโทเคนจากภาพดังกล่าว ทำให้โทเคนดังกล่าวไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของผลงานต้นฉบับ แต่เป็นผลงานฉบับเลียนแบบ ซึ่งศิลปินและผู้สร้างสรรค์ผลงานตัวจริงไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ
อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
การสร้างบันทึกธุรกรรมบนบล็อกเชนจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากและมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว
โดยเฉลี่ยแล้ว NFT แต่ละโทเคนใช้ไฟฟ้า 340 หน่วย (หรืออีกอย่างว่า “กิโลวัตต์-ชั่วโมง”) หากตีออกมาเป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายในแต่ละครั้งจะเท่ากับ 340 * 4.2218 = 1,435.41 บาท*
*อัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย
ความเป็นเจ้าของไม่เท่ากับการควบคุม
สิทธิในผลงาน NFT จะยังคงเป็นของผู้สร้างสรรค์ผลงานถึงแม้จะขายผลงานให้กับผู้ซื้อแล้วก็ตาม ผู้ซื้อมีสิทธิแค่ถือครองและอวดความเป็นเจ้าของแต่ไม่มีสิทธิแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือทำซ้ำผลงานที่ซื้อมาแต่อย่างใด
สรุป
NFT ย่อมาจาก “Non Fungible Token” หรือโทเคนที่แสดงความเป็นเจ้าของสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น ภาพวาด, ของสะสม, ดนตรีไปจนถึงเอกสารทางกฎหมาย ซึ่งแต่ละ Non Fungible Token จะมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถแบ่งแยกหรือทำซ้ำได้
ปัญหาของ NFT ในปัจจุบันคือสภาพคล่องต่ำ, การขโมยผลงานมาขายต่อ, ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและสิทธิของผู้ซื้อ
Reference
- https://www.investopedia.com/non-fungible-tokens-nft-5115211
- https://www.theverge.com/22310188/nft-explainer-what-is-blockchain-crypto-art-faq
- https://www.forbes.com/advisor/investing/cryptocurrency/nft-non-fungible-token/
- https://ethereum.org/en/nft/#nft-physical-items
- https://www.springnews.co.th/blogs/program/818267
- https://cryptonews.com/news/pros-cons-of-nfts-everything-you-need-know.htm
- https://www.blockdit.com/posts/6206eeab9b39aefc14fc4129
- https://www.mea.or.th/profile/109/111
- https://www.moneysupermarket.com/gas-and-electricity/features/crypto-energy-consumption/