อะไรจะเกิดขึ้นหาก Bitcoin ขุดครบ 21 ล้านเหรียญ

มากกว่า 90% ของปริมาณ Bitcoin ถูกขุดขึ้นมาในช่วง 12 ปีนับตั้งแต่การถือกำเนิดคริปโตเคอเรนซี่แรกของโลก และเมื่อดูจากปริมาณสูงสุดที่กำหนดโดยซาโตชิ นากาโมโตะแล้ว ปริมาณที่เหลือรอการขุดนั้นมีอีกไม่มากนัก ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเมื่อขุด Bitcoin ครบ 21 ล้านเหรียญ

ปริมาณ Bitcoin

ซาโตชิ นากาโมโตะกำหนดจำนวนสูงสุดของ Bitcoin อยู่ที่ 21 ล้านเหรียญผ่านอัลกอริทึมในซอร์สโค้ดของ Bitcoin เพื่อทำให้หายากและควบคุมเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นจากปริมาณเงินที่มีไม่จำกัด

ในตอนที่เขียนบทความ (17/4/2565) Bitcoin ถูกขุดไปแล้วกว่า 19 ล้านเหรียญ ทำให้ปริมาณที่รอการขุดเหลือไม่ถึง 2 ล้านเหรียญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดคะเนว่า Bitcoin ทั้งหมดจะถูกขุดจนหมดในปี 2683 หรือในอีก 118 ปีข้างหน้า

ผลกระทบที่มีต่อนักขุด

เนื่องจากการขุด Bitcoin คือการแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อยืนยันและยอมรับบล็อกธุรกรรมที่อยู่ในเครือข่าย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อบล็อก โดยผลตอบแทนที่จะได้รับคือ Bitcoin และค่าธรรมเนียมจากการประมวลผลธุรกรรม

อย่างไรก็ตาม Bitcoin ที่ได้รับจากการขุดจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อยืนยันและยอมรับทุก 210,000 บล็อกหรือทุกประมาณ 4 ปี ซึ่งเรียกว่า “Halving (การลดลงครึ่งหนึ่ง)”

ตาราง Halving ที่ผ่านมาของ Bitcoin

ปีที่เกิด Halving จำนวนบล็อก BTC ต่อบล็อก วัน/เวลา
2552 1 (บล็อก Genesis*) 50 9 มกราคม 2552

9.54 น. ตามเวลาไทย

2555 210,000 25 28 พฤศจิกายน 2555

22.24 น. ตามเวลาไทย

2559 420,000 12.5 9 กรกฎาคม 20559

23.46 น. ตามเวลาไทย

2563 630,000 6.25 12 พฤษภาคม 2020

2.23 น. ตามเวลาไทย

ข้อมูลจาก: https://www.deltecbank.com/2022/02/28/bitcoin-halving-2024/?locale=en

*บล็อกแรกสุดของ Bitcoin

การขุด Bitcoin จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีราคาแพง แถมกินไฟอย่างมากเพื่อแข่งขันกับนักขุดคนอื่น ๆ เพื่อแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์เป็นคนแรก ซึ่งในปัจจุบัน รายได้ประมาณ 98% ของนักขุดมาจากการขาย Bitcoin ขณะที่ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนเพียง 2% จากรายได้ทั้งหมดของนักขุด

เมื่อรางวัลที่ได้รับจากการขุดเป็นศูนย์ ผลตอบแทนเดียวที่นักขุดจะได้รับคือค่าธรรมเนียม ซึ่งหากค่าธรรมเนียมไม่มากพอที่จะชดเชยการหายไปของ Bitcoin

  • นักขุดอาจรวมตัวกันเพื่อควบคุมทรัพยากรการขุดและเรียกค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น
  • การขุดแบบเห็นแก่ตัว (Selfish Mining) คือการยืนยันบล็อกใหม่แต่ยังไม่ปล่อยเข้าสู่เครือข่ายในทันที แต่จะปล่อยบล็อกดังกล่าวในภายหลัง ซึ่งทำให้ระยะเวลาประมวลธุรกรรมนานขึ้นและรับประกันว่าจะได้รับค่าธรรมเนียมสูงเมื่อเผยแพร่บล็อกใหม่เข้าสู่บล็อกเชนในภายหลัง

ผลกระทบที่มีต่อเครือข่าย

เนื่องจากเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์เป็นหัวใจของคริปโตเคอเรนซี่ ทำให้เครือข่ายเป็นส่วนสำคัญของ Bitcoin เพราะทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายจะคอยดูแลระบบและตรวจสอบความถูกต้องกับรักษาความปลอดภัยให้กับบล็อกเชน

หากจำนวนธุรกรรมในอนาคตเพิ่มขึ้น การประมวลผลธุรกรรมอาจเกิดความล่าช้าขึ้น ซึ่ง Bitcoin ให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความสมบูรณ์มากกว่าความเร็ว

อย่างไรก็ตาม ทางแก้ของปัญหาดังกล่าวคือเครือข่าย Lightning Network ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความเร็วในการประมวลธุรกรรม Bitcoin ผ่านการประมวลธุรกรรมนอกบล็อกเชนและค่อยรวมผลลัพธ์เข้ากับเครือข่ายในภายหลังผ่านการใช้ Smart Contract (สัญญาอัจฉริยะ)

แต่หากจำนวนธุรกรรมในอนาคตน้อยลง นั่นอาจทำให้ Bitcoin กลายเป็นเงินทุนสำรองแทนที่จะเป็นระบบชำระเงินอย่างที่ซาโตชิ นากาโมโตะตั้งใจไว้แต่ต้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนรายย่อยถูกแทนที่ด้วยนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ และอาจทำให้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นจนทำให้ต้นทุนการเทรดแพงมาก

ทางแก้จากซาโตชิ นากาโมโตะ

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินในระบบ ทางผู้สร้างได้กำหนดให้แต่ละ Bitcoin สามารถแบ่งออกเป็น 100 ล้านหน่วย ซึ่งหน่วยดังกล่าวจะเรียกว่า “ซาโตชิ” ตัวอย่างเช่น

  • 1 BTC เท่ากับ 100,000,000 ซาโตชิ
  • 0.1 BTC เท่ากับ 10,000,000 ซาโตชิ
  • 0.01 BTC เท่ากับ 1,000,000 ซาโตชิ

เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้นและผู้คนต่างใช้ Bitcoin ในการชำระค่าสินค้าและบริการ นั่นจะทำให้แต่ละซาโตชิมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในหน่วย BTC ลดลง ซึ่งทำให้ปัญหาปริมาณเงินที่มีจำกัดไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป

สรุป

การขุดครบ 21 ล้าน BTC จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักขุด เครือข่ายและนักลงทุนเองก็อาจได้รับผลกระทบด้านลบเช่นกัน

Reference: