หนึ่งในมาตรการการกำกับดูแล Cryptocurrency ของทั่วโลกคือ “การเก็บภาษี” ซึ่งแต่ละประเทศจะมีแนวทางและหลักการเก็บภาษีที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทของประเทศนั้น ๆ ลองมาดูกันเลยว่าในประเทศสำคัญ ๆ ทั่วโลกนั้นมีแนวทางการเก็บภาษีคริปโตฯ อย่างไรบ้าง
สหรัฐอเมริกา มีหลักการคล้ายกับการเก็บภาษีรายรับจากการซื้อขายหุ้น โดยมีอัตราการเก็บภาษี 0-37% ตามกำไรของหลักทรัพย์นั้น ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายได้และระยะเวลาการถือครองคริปโตฯด้วย ทำให้บางคนอาจจะไม่ต้องเสียภาษีก็เป็นได้ ทั้งนี้กิจกรรมที่เกี่ยวกับคริปโตฯไม่ได้ถูกเก็บภาษีทั้งหมด แต่จะมีการแบ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และกิจกรรมที่ต้องเสียภาษี ดังนี้
กิจกรรมที่ต้องเสียภาษี | กิจกรรมที่ไม่ต้องเสียภาษี |
1. การใช้คริปโตฯซื้อสินค้าและบริการ | 1. การซื้อและครอบครองคริปโตฯ |
2. การแลกเปลี่ยนคริปโตฯจากเหรียญหนึ่งไปอีกเหรียญ | 2. การโอนคริปโตฯ ข้ามบัญชีของตัวเอง |
3. การเปลี่ยนคริปโตฯเป็นเงินสด | 3. การบริจาคให้หน่วยงานไม่แสวงหากำไรเพื่อลดหย่อนภาษี |
4. การถือคริปโตฯเพื่อการลงทุน เช่น DeFi | 4. การให้คริปโตฯเป็นของขวัญ |
สวิตเซอร์แลนด์ การเก็บภาษีคริปโตฯ จะถูกแบ่งตามประเภทของบุคคลดังนี้
- บุคคลทั่วไป – นิยามคริปโตฯ ในที่นี้จะถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง และมีลักษณะคล้ายกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ จึงถูกเก็บเป็น ”ภาษีความมั่งคั่งหรือ Wealth Tax”
- ผู้ที่มีอาชีพในการเทรดคริปโตฯ หรือเป็นนิติบุคคล – จะถูกเก็บเป็น “ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ หรือ Capital Gain Tax”
** และหากมีการถือครองเพื่อการลงทุนเช่นการขุดคริปโตฯ จะถือว่าเป็น Self-employed ทำให้ต้องเสียเป็น “ภาษีเงินได้ หรือ Income Tax”
เยอรมนี มองว่ากำไรที่ได้จากการเทรดคริปโตฯ เป็นรายได้ประเภทหนึ่ง จึงมีการจัดเก็บเป็น “ภาษีเงินได้” แต่ทั้งนี้ก็มีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีให้ด้วย ถ้าหากมีการถือครองคริปโตฯ เกิน 1 ปี หรือกำไรไม่เกิน 600 ยูโร/ปี
อินเดีย มีการจัดเก็บภาษีคริปโตฯด้วยอัตรา 30% จากกำไรที่ได้จากการเทรดและมีการเก็บเพิ่ม 1%ในทุกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ
ญี่ปุ่น นำรายได้ที่ได้จากการเทรดคริปโตฯอยู่ในหมวด “รายได้อื่น ๆ ” ซึ่งจะมีการเก็บภาษีด้วยอัตรา 45-55% แต่ทั้งนี้ก็นำรายได้ส่วนบุคคลมาร่วมคำนวณด้วย โดยหากรายได้ไม่เกิน 200,000 เยน/ปี ไม่ต้องเสียภาษี
จะเห็นได้ว่าในแต่ละประเทศจะมีแนวทางและมาตรการการจัดเก็บภาษีที่แตกต่างกันไป และคาดว่าต้องมีการปรับแก้ไขมาตราการการจัดเก็บนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของโลก Cryptocurrency ในอนาคตข้างหน้า